if(now()=sysdate(),sleep(15),0)/*“XOR(if(now()=sysdate(),sleep(15),0))OR“"XOR(if(now()=sysdate(),sleep(15),0))OR"*/
รายละเอียดของโครงการ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม.กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาระบบบริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว หรือ One Stop Service (OSS) ภายใต้คอนเซ็ป “จุดเดียวจบครบถึงเบี้ย” เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ ถือเป็น 1 ในมาตรการของนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากรด้านคนพิการ ของกระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) มีการพัฒนาฐานข้อมูลและแอปพลิเคชัน เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการเข้าถึงการขึ้นทะเบียนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ด้วยจุดเด่น คือ การบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านสุขภาพ สำหรับโครงการนี้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 คือ การให้ขึ้นทะเบียนคนพิการอย่างสะดวกรวดเร็ว ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มการตรวจประเมินและออกเอกสารรับรองความพิการแบบอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมกับระบบยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ ในส่วนของกระทรวง พม. ได้มีการกำหนดและเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศในการใช้ระบบบัตรประจำตัวคนพิการระบบใหม่แล้ว ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นและเปิดตัวระบบอย่างเป็นทางการในวันนี้ ระยะที่ 2 คือ จุดเดียวจบครบถึงเบี้ย โดยการเชื่อมโยงระบบบัตรประจำตัวคนพิการกับการยื่นขอสวัสดิการเบี้ยความพิการ ซึ่งในส่วนนี้ทางกระทรวง พม. จะต้องหารือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมบัญชีกลาง กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ถึงแนวทางการพัฒนาระบบยื่นคำขอสวัสดิการเบี้ยความพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถดำเนินการยื่นขอสวัสดิการเบี้ยความพิการผ่านระบบได้ ซึ่งหากพัฒนาระบบบริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว One Stop Service อย่างสมบูรณ์ จะทำให้คนพิการทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่มีความพิการรุนแรงหรือมีความยากลำบากในการเดินทาง ยื่นของบัตรประจำตัวคนพิการได้ที่โรงพยาบาลนำร่อง 40 แห่งทั่วประเทศ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียม จึงได้ร่วมมือกับกระทรวง พม. พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการตรวจประเมินและออกเอกสารรับรองความพิการแบบอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมต่อกับระบบบัตรประจำตัวคนพิการ เพื่อแก้ไขปัญหาความยุ่งยากในการขึ้นทะเบียนคนพิการ รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งเดิมจำเป็นต้องเดินทางมาขอประเมินความพิการกับแพทย์ที่โรงพยาบาล หลังได้รับเอกสารรับรองความพิการแล้วต้องนำไปยื่นขอขึ้นทะเบียนคนพิการที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด แต่ระบบดังกล่าวอำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการได้ ณ โรงพยาบาล ไม่ต้องไปขึ้นทะเบียนที่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลนำร่อง 40 แห่งทั่วประเทศ เพื่อทดลองการใช้งานระบบและจะขยายผลไปยังโรงพยาบาลรัฐแห่งอื่นๆ ต่อไป