นายชูฉัตร ประมูลผลเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.)ลงพื้นที่ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทยสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทยเพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องการประกันภัยภายใต้โครงการ“คปภ. เพื่อสังคม” สังคมผู้เปราะบางทางการเงินเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567ณ สมาคมศูนย์การเรียนรู้คนพิการ บ้านแม่นก เขตสายไหมกรุงเทพฯ พร้อมบันทึกเทปโทรทัศน์เพื่อเผยแพร่เรื่องราวผ่านรายการ คปภ. เพื่อสังคม ทางทีวีดิจิทัล(อมรินทร์ทีวี HD ช่อง 34)โดยมุ่งหวังให้ประชาชนผู้รับชมรายการได้รับความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ต่อจากการลงพื้นที่ “คปภ. เพื่อสังคม” สังคมอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) และในการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อนำเสนอสภาพความเป็นอยู่ของคนในกลุ่มผู้เปราะบางทางการเงิน ความเสี่ยงภัย และการบริหารความเสี่ยงด้วยการประกันภัย ซึ่งกลุ่มคนพิการเป็นอีกกลุ่มคนหนึ่งที่สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ทั้งนี้จากข้อมูล ปี 2567 ประเทศไทยมีจำนวนประชากร มากกว่า 66 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการถึงประมาณ4.19 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ6 ของจำนวนประชากร ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากพอสมควรด้วยความพิการของร่างกาย จึงทำให้โอกาสในการศึกษาและการประกอบอาชีพของคนพิการมีน้อยกว่าคนปกติทั่วไป โดยเห็นได้จากตัวเลขของคนพิการในวัยทำงาน(อายุ 15- 60 ปี) ที่ลงทะเบียนคนพิการไว้ ประมาณ 850,000 คนประกอบอาชีพไม่ถึง 2 แสนคนเท่านั้น หรือคิดเป็นร้อยละ 22.82เท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่ได้ประกอบอาชีพร้อยละ 48.68 และพิการมากไม่สามารถประกอบอาชีพได้ร้อยละ 25.20 (ไม่ประสงค์ให้ข้อมูลด้านอาชีพ ร้อยละ 3.30%จึงทำให้กลุ่มคนพิการส่วนมากเป็นกลุ่มผู้ที่มีความเปราะบางทางการเงิน สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความรู้และสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนสามารถใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการส่วนมากเป็นกลุ่มผู้ที่มีความเปราะบางทางการเงินรวมถึงความเสี่ยงที่สังคมกลุ่มนี้ได้รับจะเป็นอย่างไร นอกจากผู้พิการแล้ว อาจรวมถึงผู้ปกครอง หรือคุณพ่อคุณแม่ที่ให้ความดูแลผู้พิการด้วย เนื่องด้วยภาระค่าใช้จ่ายในการดูแล และการรักษาพยาบาล ทำให้ประชาชนกลุ่มนี้จำเป็นต้องสร้างความมั่นคงทางการเงิน ต้องได้รับการบริหารความเสี่ยงจากการประกันภัยที่เหมาะสม รวมทั้งการมีอาชีพเพื่อหารายได้เก็บสะสมไว้เพื่อการเลี้ยงดูบุตร และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การส่งต่อมรดก เพื่อให้ในวันที่เขาไม่อยู่ ลูกๆ ผู้มีความพิการยังมีทุนสำหรับการดำรงชีวิตต่อไปได้ ทั้งนี้ ได้มีเวทีเสวนาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของบ้านแม่นก ซึ่งเป็นการสะท้อนมุมเล็กๆในสังคมของคนพิการที่อาจจะไม่ได้รับรู้เลยในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป แต่สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กพิการ นี่เป็นการถ่ายทอดครั้งสำคัญที่จะส่งต่อพลังบวกให้พวกเขายังสู้ต่อไป โดยส่งต่อทั้งความรู้ในการดูแลและฟื้นฟูลูก ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากแม่นกและพ่อแม่คนอื่นๆ ได้ความรู้จากศาสตร์การดูแลเด็กพิการของญี่ปุ่นที่สามารถมาประยุกต์ใช้ในการดูแลเด็กได้ และที่สำคัญคือ การใช้ประกันภัยเป็นเครื่องมือดูแลค่าใช้จ่ายและสร้างงานสร้างอาชีพให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อจะได้มีเวลามาดูแลลูก โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร ประกอบด้วย นางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการ ด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค นายจรุง เชื้อจินดา รองผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทยดร.พงษ์ภาณุ ดำรงศิริ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย นางประภาพร ลิขสิทธิ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินนายจิตวุฒิ ศศิบุตร นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย และนางสาวเสาวภา ธีระปรีชากุล นายกสมาคมศูนย์การเรียนรู้คนพิการ บ้านแม่นกโดยการจัดงานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจประกันภัยเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) เพื่อมอบเงินสำหรับจัดทำเก้าอี้นั่งสำหรับประคองตัวผู้พิการอีกด้วย เลขาธิการ คปภ. กล่าวทิ้งท้ายว่ารายการ “คปภ. เพื่อสังคม”จะนำเสนอกลุ่มคนในสังคมที่มีการดำเนินชีวิต สภาพความเสี่ยงที่แตกต่าง และการประกันภัยสามารถช่วยเหลือผู้คนในทุกกลุ่มของสังคมเพื่อบริหารความเสี่ยง และสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับประชาชนได้อย่างเป็นระบบอย่างแท้จริง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้รับชมรายการนี้จะได้รับประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ อย่างแน่นอน